EG บทที่ 657 วันครู! ความทุกข์ในวันครู!
ตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 เป็นต้นมารัฐบาลจีนได้กำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปีเป็นวันครูซึ่งมันได้ถูกกำหนดเป็นที่เรียบร้อยก่อนที่เฝิงหยู่จะย้อนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
จุดประสงค์ของวันครูก็เพื่อแสดงความชื่นชมการมีส่วนร่วมของครูต่อสังคมนั่นเอง ในช่วงที่ประเทศยังไม่สงบอาชีพครูถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น‘บุคคลที่ 9 ในโต๊ะโป๊ยเซียน’[1] และถูกมองว่าใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ในช่วงเวลานั้นมีนักเรียนเป็นจำนวนมากที่ถูกครูทุบตีและทำให้นักเรียนอับอายด้วยการบังคับให้พวกเขาไปอยู่ในคอกวัวและห้อยกระโถนไว้ที่คอ
แม้ว่าช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายจะจบลงและรัฐบาลได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนเคารพครูบาอาจารย์แต่ก็มีครูอีกจำนวนมากที่มักทุบตีนักเรียนและผู้ปกครองส่งผลให้ครูถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก
นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลได้หยิบยกประเด็นเรื่องวันครูมาพูดคุยกันหลายต่อหลายครั้ง จนท้ายที่สุดวันที่ 10 กันยายนจึงถูกรับเลือกเพราะเป็นวันเปิดภาคการศึกษาพอดี
รัฐบาลจีนยังได้กำหนดนโยบายอีกจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนอาชีพครู เช่นสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆที่พัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้ดีขึ้น มีระบบการให้รางวัลเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินเพื่อปรับตำแหน่งให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาลที่ดียิ่งขึ้น ฯลฯ งบประมาณจำนวนมหาศาลก็ถูกจัดสรรให้กับภาคการศึกษา
ก่อนที่เฝิงหยู่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เหล่าคุณครูทั้งหลายต่างก็เพลิดเพลินไปกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้ถูกนำไปใช้กับครูในยุคแรกๆแต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป
เมื่อสถานะของครูสูงขึ้น ผู้ปกครองหลายๆคนเริ่มรู้สึกว่าการเรียนเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้บุตรหลานของตนประสบความสำเร็จในชีวิต หากบุตรหลานของพวกเขาได้เรียนสูงๆพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานในไร่นาหรือเป็นลูกจ้างค่าแรงต่ำ พวกเขาจะสามารถเป็นหัวหน้างานหรือข้าราชการระดับสูงๆได้
เพื่อให้บุตรหลานของพวกเขาได้รับการดูแลอย่างดี ผู้ปกครองเหล่านี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาใจครู ในยุคนี้ไม่มีการสอนเฉพาะทางหรือการศึกษาที่มีคุณภาพ สิ่งเดียวที่เป็นสิ่งสำคัญคือผลลัพธ์เท่านั้น
นอกจากนี้นโยบายในปีที่ผ่านมาคือผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจะได้รับคัดเลือกให้เข้ารับราชการและสามารถเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างๆทันทีที่พวกเขาเรียนจบ!
นี่คือเหตุผลที่ผู้ปกครองจำนวนมากต่างเข้าหาครูเพื่อเอาใจพวกเขา ผู้ปกครองจะพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อสร้างความพึงพอใจของครูแก่บุตรหลานของตน ทุกๆคนต่างต้องการให้ครูให้ความสำคัญกับบุตรหลานของตนเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นหากนักเรียนไม่เข้าใจบทเรียนในประเด็นใดก็สามารถเข้าไปติวหลังเลิกเรียนได้ ครูจะจดรายชื่อนักเรียนที่ผู้ปกครองฝากฝังเอาไว้เพื่อไม่ให้นักเรียนโดดเรียนหรือโดนเพื่อนในโรงเรียนรังแก
ในยุคนั้นครอบครัวส่วนใหญ่จะมีรายได้สองทาง ทั้งพ่อและแม่ต่างทำงานกันทั้งคู่และไม่มีเวลาให้กับลูกๆของตนเอง แม้ว่าลูกๆของพวกเขาจะถูกรังแกก็ยังไม่สามารถหาเวลาไปจัดการกับคนที่รังแกลูกของตนเองได้ด้วยซ้ำ
แล้วพ่อแม่เหล่านี้ควรทำอย่างไร? พวกเขาสามารถพึ่งพาครูให้ดูแลลูกๆของพวกเขาได้เท่านั้นแต่ในห้องเรียนที่มีนักเรียนหลายสิบคนจะทำอย่างไรให้ครูมาดูแลและใส่ใจลูกของพวกเขาเป็นพิเศษ?
มอบของขวัญให้กับครูอาจารย์เหล่านั้น!
การให้ของขวัญเป็นการส่วนตัวไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรและในสมัยก่อนการให้ของขวัญหรือจัดงานเลี้ยงฉลองให้กับครูถือเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ปกครองทั้งหลายก็แค่ยึดตามธรรมเนียมดั้งเดิมมาเท่านั้น
ดังนั้นครูและอาจารย์ทั้งหลายไม่เพียงแต่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐบาลเท่านั้นแต่ยังได้รับการดูแลจากผู้ปกครองนักเรียนอีกด้วย ในช่วงเวลานี้นักเรียนยังสามารถถูกครูลงโทษด้วยการทุบตีได้ ซึ่งประเด็นนี้กินเวลานานจนกระทั่งไม่กี่ปีต่อมาประธานาธิบดีได้เอ่ยตำหนิรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในช่วงงานเลี้ยงอาหารค่ำในประเด็นนี้ขึ้นมา ส่งผลให้มีการกำหนดกฎระเบียบขึ้นมาโดยครูจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงมือทำโทษร่างกายนักเรียนได้อีกต่อไปแต่ครูบางคนก็ยังคงปฏิบัติตัวเช่นเดิม
หลังจากปีค.ศ.2000 เป็นต้นไป ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่จะดีขึ้นเรื่อยๆและหลายๆคนก็ตระหนักได้ว่าแม้จะไม่ได้เรียนจบสูงพวกเขาก็ยังสามารถทำงานหาเงินได้เยอะๆเช่นกัน
‘โปรดดูแลลูกของเราด้วยนะครับ หากเขาทำตัวไม่ดีคุณครูสามารถทำโทษเขาได้เลย’
นี่คือช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะไม่ได้บอกประโยคนี้แก่ครูอีกต่อไป เพราะมันจะถูกเปลี่ยนเป็น…
‘โปรดดูแลลูกของเราด้วยนะครับ หากเขาทำตัวไม่ดีก็แจ้งให้ผมทราบได้เลยเพราะผมจะทำโทษเขาเอง แล้วอย่าให้ใครในโรงเรียนมารังแกลูกของผมได้นะครับ ส่วนนี้ถือเป็นน้ำใจเล็กๆน้อยจากครอบครัวเราโปรดรับไว้ด้วยนะครับ’
มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ทำให้เด็กๆเสียคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปู่ย่าตายายของเด็กๆ หากครูแตะร่างกายเด็กๆแค่เพียงปลายเล็บ ปู่ย่าตายายก็พร้อมจะออกไปจัดการกับครูในทันที!
ในช่วงแรกๆของขวัญที่ครูได้รับมากที่สุดก็คือปากกาหรือการ์ดขอบคุณ มันไม่ใช่สิ่งของที่มีค่ามากนักและมักเป็นของขวัญทำมือเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมามันก็เริ่มขยับเป็นไข่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ บัตรกำนัล อาหารต่างๆ เป็นต้น
เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆของขวัญก็มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาหันมามอบจักรยานและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเพื่อตอบแทนการที่ครูเหล่านั้นดูแลบุตรหลานของพวกเขาเป็นพิเศษ
ครูหลายๆคนจึงคุ้นชินกับการรับของขวัญราคาแพงๆ พวกเขาไม่ต้องการรับปากกาหรือการ์ดขอบคุณอีกต่อไป พวกเขาหวังว่าจะได้รับของขวัญราคาแพงๆเท่านั้น!
แต่ก็ยังมีครูที่ตงฉินอีกจำนวนมาก แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับของขวัญอะไรเลยแต่พวกเขาก็ยังตั้งใจทำงานเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนต่อไป แต่เมื่อครูหลายๆคนยังคาดหวังในของกำนัลมันก็จะกระทบต่อการสอนและทำให้คุณภาพของครูด้อยลง วันครูก็จะกลายเป็นวันอวดของขวัญว่าใครจะเป็นครูที่ได้รับของขวัญมากที่สุด
มีคนเคยพูดว่า ครูอาจจำไม่ได้ว่ามีใครให้ของขวัญอะไรบ้าง?แต่ครูจะสามารถจำได้ว่ามีผู้ปกครองของนักเรียนคนใดบ้างที่ไม่ได้ให้ของขวัญ! เพื่อให้แน่ใจว่าครูจะจำลูกหลานขอตนได้ดังนั้นของขวัญจะต้องเป็นของที่มีราคาแพงเข้าไว้!
ในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่ครูที่คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะมอบของขวัญให้กับครู ไม่มีใครคิดว่าครูไม่สมควรได้รับของขวัญ!
แต่ของขวัญที่พวกครูควรได้รับคืออะไรล่ะ? นี่คือความปวดหัวสำหรับผู้ปกครองหลายๆคน คุณต้องการจะให้จักรยานเป็นของขวัญงั้นหรือ? แต่ถ้าครูท่านนั้นมีจักรยานอยู่แล้วล่ะการให้เพิ่มไปอีกหนึ่งคันมันเหมาะแล้วหรือ?
คุณต้องการให้ของขวัญราคาแพงๆแต่คุณก็ไม่มีปัญญาจ่ายแต่จะให้ของขวัญราคาถูกๆก็ไม่ใช่เรื่องเช่นกัน? หากจะให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ล่ะ? ถ้าครูคนนั้นเป็นผู้หญิงก็คงไม่อยากได้กระมัง?
การให้เงินคงเป็นวิธีที่ตอบโจทย์มากที่สุดแต่มันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี เงินไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนเหมือนสินค้าอื่นๆ 1,000หยวนก็จะเป็นเพียงธนบัตรใบละ 100 หยวน 10 ใบเท่านั้น หากมันอยู่ในซองจดหมายก็จะไม่สามารถรู้สึกถึงมันได้เลย แต่ถ้าคุณซื้อสินค้าในมูลค่า 1,000 หยวน มันจะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะไม่สามารถซื้อของขวัญในมูลค่า 1,000 หยวนได้ อย่างมากพวกเขาก็ยอมเจียดเงินเดือนที่มีอยู่น้อยนิดมาซื้อของขวัญมูลค่าไม่กี่ร้อยหยวนเท่านั้น
มันจะดูไม่ดีถ้าผู้ปกครองมอบเงินสดเป็นของขวัญให้กับครูตรงๆและครูส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้ารับเงินจากมือผู้ปกครองโดยตรงอีกด้วย ผู้ปกครองยังกังวลอีกว่าผู้ปกครองท่านอื่นจะมอบเงินเป็นของขวัญมากกว่าที่พวกเขาให้
ดังนั้นสำหรับผู้ปกครองทั้งหลาย วันครูก็คือวันทุกข์สำหรับพวกเขาเช่นกัน
เกือบทุกคนไม่ทราบว่าควรจะเตรียมของขวัญอะไรให้ดี?และควรใช้วงเงินเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม?
แต่บัตรช้อปปิ้งจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้!
การให้บัตรช้อปปิ้งแก่ครูก็เหมือนการให้ซองอั่งเปาในงานแต่งงานหรือวันตรุษจีน พวกเขาสามารถพูดคุยเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ได้รับหรือมอบให้ได้ มันไม่เหมือนกับการให้สิ่งของเพราะคงไม่มีใครให้สิ่งของซ้ำกับผู้อื่นอย่างแน่นอน
ครูสามารถใช้บัตรช้อปปิ้งซื้อในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ มันไม่เหมือนกับการให้เงินสดเมื่อครูเหล่านั้นไม่กล้าที่จะรับมันอย่างเปิดเผย แต่สำหรับบัตรช้อปปิ้งใบเล็กๆนี้ผู้ปกครองสามารถหย่อนมันใส่กระเป๋าหรือยัดใส่มือครูได้อย่างง่ายดาย
นี่คือธรรมเนียมปฏิบัติที่มีกันอย่างแพร่หลายในประเทศจีนและยากที่จะเปลี่ยนแปลงในเร็วๆนี้ได้
ภาคการศึกษาใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น นักเรียนหลายๆคนต่างก็จดจ่อรอคอยและแน่นอนว่าครูอาจารย์หลายๆท่านก็รอคอยเช่นกัน
[1] บุคคลที่ 9 ในโต๊ะโป๊ยเซียน หมายถึงไม่ได้นั่งในตำแหน่งที่สมควรนั่ง โต๊ะโป๊ยเซียนคือโต๊ะ 8 เหลี่ยม การนั่งล้อมวงในโต๊ะแปดเหลี่ยมนั้น 8 คนก็จะพอดีโต๊ะแต่ถ้ามีคนที่ 9 มานั่งแทรกอีกคนมันก็จะอึดอัด นั่งไม่ลงตัว สำนวนนี้จึงหมายถึง ไม่ได้นั่งในตำแหน่งที่สมควรนั่ง หรือได้ทำงานในตำแหน่งลอยๆ ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่แท้จริง